เพื่อความฟินในการจิบชา ก็ต้องมาอ่านประวัติของส่วนประกอบของสิ่งต่างๆก่อน
ชาในภาษาพม่า เรียกว่า หล่ะเพ็ด โดยไม่ต้องเน้นออกเสียงเพ็ดเต็มๆ ต้องปล่อยลมผ่านไปหน่อย แล้วก็ ดอเด็กตาม ละเพ็ด ละเพ็ด
ส่วนน้ำเรียกว่า เหย่ ใช่แล้ว คล้ายๆ เย่เวลาดีใจแต่เสียงต่ำลงนิดนึง เหย่
น้ำร้อน ก็จะบอกว่า เหย่นุย (นุยคือร้อน แต่ไม่ใช่อากาศร้อน จะเป็นการร้อนของของกิน)
เพราะฉะนั้น น้ำชาร้อน คือ ละเพ็ดเหย่นุย แต่ถ้าไปที่ร้านน้ำชา จะเรียก เหย่นุย เฉยๆก็ได้ กลับมาเข้าเรื่องต่อ ประวัติของสิ่งต่างๆคือ
กาน้ำชา .... จากเมืองจีน ไปหาซื้อที่ห้างขายส่งแถวบ้าน จบไป ไม่มีอะไรเล่า
แก้วชา... เป็นขี้เถ้า ที่มาจากภูเขาไฟฟูจิ หรือถ้าออกเสียงแบบนิฮอนโกะก็คือ ฮูจิยามะ เอามาปั้นๆแล้วก็เผาจนได้แก้วชาใบนี้ขึ้นมา ลายก็เพ้นท์มือ ทำให้มีใบเดียวในโลก
ใบชา .... ตากแห้งมาจากเมืองเมเมียว หรือภาษาพม่าเรียกว่า พิน อู ลวิน เป็นเมืองพักตากอากาศตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครอง ขอบอกว่า บ้านหลังนึงบนนั้น ราคาซื้อขายล่าสุดเป็นร้อยล้านบาท
ที่รองกาน้ำชา .... เป็นหยกแท้ๆ ที่มาจากเหมืองในประเทศพม่า จริงๆขอเรียกว่ามาจากชนกลุ่มน้อยในพม่าดีกว่า เพราะว่าดมืองที่มีแร่ มีเหมือง จะเป็นแถวๆขอบๆที่เป็นชาติพันธุ์ต่างๆมากกว่า ในพม่ามีหยกที่ขึ้นชื่อ ราคาหลายร้อยล้าน แต่ขอไม่บอกแล้วกันนะ ว่าอันนี้ซื้อมาเท่าไหร่ เดี๋ยวจะตกใจ
น้ำที่มาชงชา .... ถ้าไม่มีสิ่งนี้ เราจะไม่สามารถเรียกว่าน้ำชาได้ เป็นน้ำกรองจากคนพม่าที่ขนส่งผ่านสามล้อ นำมาผ่านการต้มที่อุณหภูมิ 100 องศา เมื่อเดือด ทำการรินให้สัมผัสกับใบชาทันที ซึ่งจะทำให้ชาสะดุ้ง แล้วพองตัวออกมาคลายกลิ่นและรสของชานั้นออกมา
มือที่จับแก้วชา ... อิมพอร์ทมาจากประเทศไทย ไม่สามารถประเมินค่าได้ เคยผ่านการทำงานมานับไม่ถ้วน ทั้งงานเบา งานหนัก หากสัมผัสด้วยมือจะมีความหยาบกร้านเล็กน้อย แต่ถ้าหากเอามือนี้ไปสัมผัส จะพบกับความนุ่ม ละมุนที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
อ่านจบแล้ว จิบชาได้ หายร้อนพอดี เมื่อรู้ที่ไปที่มา จะทำให้ชาอร่อยขึ้น 28.5%
Comments
Post a Comment